โครงการพัฒนาอาจารย์ด้านการวิจัย เรื่อง “การเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่”

           

          คณะกรรมการวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ จัดโครงการพัฒนาอาจารย์ด้านการวิจัย เรื่อง “การเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่” เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ – ๑๕.๓๐ น. ณ ห้องประชุมพดด้วง อาคาร ๑ ชั้น ๓ คณะมนุษยศาสตร์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อาจรณ เชษฐสุมน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ เป็นประธานเปิดโครงการฯ ซึ่งมีคณาจารย์คณะมนุษยศาสตร์จากทุกภาควิชาให้ความสนใจและเข้าร่วมอบรมมากกว่า ๓๐ คน

          การจัดโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ได้รับความรู้และความเข้าใจในกระบวนการการเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการที่มีคุณภาพก่อน
การตีพิมพ์เผยแพร่บทความเหล่านี้ออกสู่แวดวงวิชาการ เนื่องจากในปัจจุบันเกิดการแข่งขันเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิชาการเข้มข้นมากขึ้น ทั้งการเผยแพร่บทความในงานประชุมวิชาการและวารสารในระดับชาติและระดับนานาชาติ ดังนั้นการได้รับความรู้และความเข้าใจในกระบวนการผลิตผลงานวิชาการที่มีคุณภาพจึงถือเป็นประโยชน์ต่อคณาจารย์
คณะมนุษยศาสตร์ที่จะผลิตผลงานวิชาการสู่เวทีการแข่งขันทางวิชาการต่อไป

          วิทยากรในโครงการนี้ได้รับเกียรติจากคณาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ๓ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางวิชาการและมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ประภาวดี กุศลรอด อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเยอรมัน ภาควิชาภาษาตะวันตก บรรยายในหัวข้อเรื่อง “การเลือกเรื่องหรือประเด็นนำเสนอในบทความ” รศ.ดร. ประภาวดี ได้กล่าวถึงประสบการณ์การผลิตผลงานวิชาการนับตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษากระทั่งในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นถึงที่มาของการเลือกประเด็นนำเสนอ ที่อาจมาจากการเดินทาง การพูดคุยและสังเกตผู้คนรอบข้าง หรือกล่าวได้ว่าเป็นการนำเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันที่ผู้คนมักมองข้าม เพื่อนำมาปรับใช้เป็นประเด็นการสร้างผลงานวิชาการ ดังนั้นงานวิชาการที่มีคุณภาพอาจมาจากการสังเกต
จากสิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน หัวข้อเรื่องต่อมา “การเขียนบทความให้มีคุณค่าทางวิชาการ” ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับฟังประสบการณ์การทำงานวิชาการด้วยความรัก
จนนำไปสู่การสร้างผลงานวิชาการที่มีคุณภาพ รองศาสตราจารย์ ดร. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก กล่าวถึงความประทับใจ
หนังสือเรื่อง “ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน”

          ทั้งเรื่องราวในหนังสือและชีวิตที่น่าสนใจของผู้ประพันธ์ ตั้งแต่ท่านยังศึกษาในระดับปริญญาตรี กระทั่งนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
การทำงานวิชาการของท่าน ความรักในงานที่ทำจึงถือเป็นแรงผลักดันให้เกิดผลงานวิชาการที่มีคุณภาพได้เช่นกัน นอกจากการเป็นนักสังเกต และมีความรักในงานที่ทำ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผลงานวิชาการมีคุณภาพมากขึ้นแล้ว ผลงานวิชาการที่จะได้รับการตีพิมพ์จะละเลยความเข้าใจรูปแบบการเขียนในวารสารวิชาการไม่ได้ ดังนั้นการมีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการทำงานในมุมมองของผู้ตรวจรับหรือปฏิเสธผลงานวิชาการ ก็มีส่วนสำคัญให้ผลงานวิชาการของคณาจารย์จะได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ได้เช่นกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภาส พาวินันท์
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ ได้บรรยายในหัวข้อเรื่องสุดท้ายของการอบรมครั้งนี้ “การเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่” โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของรูปแบบการเขียนบทความวิชาการและบทความวิจัย ซึ่งวารสารแต่ละฉบับจะกำหนดเงื่อนไขการตีพิมพ์ที่แตกต่างกันออกไป ความเข้าใจในเรื่องเงื่อนไขของวารสารแต่ละฉบับ
จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาในบทความที่ต้องการตีพิมพ์เผยแพร่

          โครงการอบรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ภายในคณะมนุษยศาสตร์จากทุกภาควิชา หลายท่านได้รับความรู้และความเข้าใจในการผลิตผลงานวิชาการมากขึ้น ขณะที่
บางท่านกลับไปพร้อมกับแรงใจที่ต้องการผลิตผลงานวิชาการออกสู่แวดวงวิชาการ การอบรมในครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นการให้ความรู้และความเข้าใจแนวทางเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการให้กำลังใจต่อกันระหว่างคณาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ที่กำลังอยู่บนเวทีการแข่งขันทางวิชาการที่เข้มข้นมากขึ้นด้วย