“พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในสมัยรัตนโกสินทร์”

          

                             ภาควิชาประวัติศาสตร์ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคมเผยแพร่ความรู้เรื่อง “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในสมัยรัตนโกสินทร์” เมื่อวันพุธที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมพวงแสด คณะมนุษยศาสตร์ อาคาร ๒ ชั้น ๒ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาจรณ เชษฐสุมน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน

                             สำหรับโครงการนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร ๓ ท่าน บรรยาย ๓ หัวข้อสำคัญ ได้แก่ หัวข้อ "ท้องสนามหลวง" โดย อาจารย์ภคพล เส้นขาว ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของท้องสนามหลวง โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนความหมายพื้นที่ท้องสนามหลวงในแต่ละยุคสมัยกระทั่งถึงปัจจุบัน หัวข้อลำดับต่อมาคือ "ฉากงานพระเมรุในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น" โดย อาจารย์ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก ซึ่งบรรยายฉากงานพระเมรุในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในวรรณคดีเรื่องสำคัญ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงงานพระบรมศพในรัชสมัยหลังจากนั้นที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับหัวข้อสุดท้าย "สระอโนดาต : เครื่องประดับพระเมรุมาศและการแปลความหมายใหม่" โดยอาจารย์ธนกฤต ลออสุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ได้อธิบายถึงการสร้างสระอโนดาตไว้รอบพระเมรุมาศในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ระหว่างพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่เทียบเท่าได้กับพระจักรพรรดิราช
                            การจัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคมครั้งนี้ ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว ยังมีผู้เข้าร่วมจากภายนอกจำนวนมาก ที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย